"การจัดการสินทรัพย์ในอิสลาม"
By Musa Bin Arifeen
กฎหมายชารีอะห์กับการจัดการสินทรัพย์
การจัดการสินทรัพย์ตามรูปแบบอิสลามก็ไม่แตกต่างจากอุตสาหกรรมทางการเงินรูปแบบอิสลามอื่น ๆ ที่ต้องมีกรอบของกฎหมายชารีอะห์ในการดำเนินงาน กองทุนอิสลามทั้งหลายจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการตามกรอบที่ชารีอะห์กำหนด เช่น ไม่สามารถไปลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย เช่น การซื้อขายพันธบัตรทั่วไปที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จะได้จากการลงทุน เป็นต้น การจัดการสินทรัพย์รูปแบบอิสลามมีขอบเขตที่ต้องพิจารณาทำความเข้าใจหลายเรื่องด้วยกัน เช่น สัญญาและโครงสร้างสำหรับการจัดการสินทรัพย์ในอิสลาม พื้นที่ทางการตลาดสำหรับการจัดการสินทรัพย์ การดำเนินการเรื่องกองทุน กระบวนการต่าง ๆ ในการจัดการสินทรัพย์ รวมถึง คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายชารีอะห์ เหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อความสำเร็จ และสัมฤทธิ์ผลในการบริหารหรือการจัดการสินทรัพย์ในอิสลาม
โครงสร้างสำหรับการจัดการสินทรัพย์
อันที่จริงโครงสร้างสูงสุดของการจัดการสินทรัพย์คือการปฏิบัติตามหลักกฎหมายชารีอะห์ ซึ่งมีบอร์ดหรือคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายชารีอะห์ (Sharia’a Supervisory Board / SBB) ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของโครงสร้างการจัดการสินทรัพย์อิสลาม ซึ่งการปฏิบัติตามหลักกฎหมายชารีอะห์มีความคลอบคลุมตั้งแต่ที่มาของทุน หรือกองทุน ตลาด กระบวนการและวิธีการดำเนินงานกับกองทุน เช่น การลงทุน การจัดการความเสี่ยง ประเภทของการลงทุน ประเภทของสินค้า เป็นต้น ทั้งหมดเหล่านี้ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายชารีอะห์ ดั้งนั้น บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายชารีอะห์จึงมีสูงมาก และต้องรับผิดชอบ (ตามกฎหมายชารีอะห์) แทบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกฎหมายชารีอะห์กับการจัดการสินทรัพย์ เพราะอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในการพิจารณา อนุมัติ และตัดสินใจ ตามโครงสร้างที่กฎหมายชารีอะห์ได้กำหนดเอาไว้ แม้ว่าในความเป็นจริงบอร์ดของผู้บริหารจัดการ (Managing Board) จะทำหน้าที่การบริหารสินทรัพย์เกือบทั้งหมด แต่ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายชารีอะห์เสียก่อน มิฉะนั้น การจัดการสินทรัพย์ดังกล่าวมิอาจถูกพิจารณาได้ว่าเป็นการจัดการสินทรัพย์ในรูปแบบอิสลามที่สอดคล้องกับหลักชารีอะห์
บทบาทหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายชารีอะห์
1. บทบาทในการให้คำปรึกษา
2. บทบาทในการให้ความเห็นชอบหรืออนุมัติให้ดำเนินการจัดการตามกระบวนการซึ่งมีแบบอย่างกระบวนการแนวทางการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ดังนี้คือ
1. การสร้างตัวผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปตามความต้องการของตลาดหรือลูกค้า
2. การเห็นชอบต่อผลิตภัณฑ์หรือแนวคิดโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายชารีอะห์
3. การจัดทำเอกสารต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย
4. การพิจารณาระดับภายในฝ่ายกฎหมายชารีอะห์ เพื่อตรวจสอบว่าไม่มีเอกสารใด ๆ ที่จะท้าทายการไม่ปฏิบัติตามหลักกฎชารีอะห์
5. การพิจารณาโดยคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายชารีอะห์ เป็นขั้นตอนหลังจากได้มีการพิจารณาระดับภายในแล้ว(อนุกรรมการฝ่ายชารีอะห์)
6. การอนุมัติขั้นสุดท้าย
3. บทบาทในฐานะผู้ตรวจสอบ (Audit role) ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญของคณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายชารีอะห์ ที่ให้ความสำคัญทั้งก่อนและหลังการจัดการสินทรัพย์รูปแบบอิสลาม นอกเหนือจากบทบาทดังกล่าวมาแล้ว บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การผลักดันให้เกิดการรับผิดชอบต่อสังคม (Social responsibility) ซึ่งก็หมายความว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายชารีอะห์ต้องคิดคำนวณว่า ผลของการบริหารจัดการสินทรัพย์นั้น จะนำไปใช้เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหนึ่งในความรับผิดชอบทางสังคมนั้นคือ “ข้อบังคับให้มีการจ่าย ซะกาต” เพราะอันที่จริงแล้ว “ซะกาต” เป็นเพียง ความรับผิดชอบทางสังคมขั้นต่ำสุดที่มุสลิมทุกคนต้องกระทำ (Minimal Social responsibility) เพราะยังมีความรับผิดชอบทางสัมคมอื่นๆ อีกมากมาย
เมื่อพิจารณาการจัดการสินทรัพย์อิสลามในภาพรวม จะพบว่าอิสลามมีรูปแบบที่ชัดเจนในการจัดการสินทรัพย์มีแนวทางและวิธีการ รวมถึงกระบวนการในการจัดการสินทรัพย์โดยใช้กรอบแห่งกฎหมายชารีอะห์ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ดีสำหรับผู้สนใจการจัดการสินทรัพย์รูปแบบอิสลามยังมีประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต้องทำความเข้าใจและศึกษาเพิ่มเติมต่อไป