วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

มุมมองสันติภาพ...รัฐ-สื่อ-ผู้หญิง และความเป็นจริงจากพื้นที่



          เดือน มี.ค.เป็นอีกเดือนหนึ่งที่มีเวทีสัมมนาหลายเวที แต่เดือน มี.ค.ปีนี้ถือเป็นวาระพิเศษ เพราะเป็นช่วงที่รัฐบาลกำลังประกาศริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น

          เวทีต่างๆ เกือบทุกเวทีจึงยึดโยงหรือสะท้อนมุมมองไปถึงกระบวนการพูดคุยสันติภาพด้วย...
อย่างไรก็ดี ก็ยังมีบางเวทีที่พูดกันถึงปัญหาสังคมในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานที่ภาคราชการและภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมักไม่ค่อยให้ความสนใจ โดยเฉพาะปัญหาคุณภาพชีวิต สาธารณสุข การศึกษา และการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งๆ ที่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้จริง ย่อมต้องสะสางปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปด้วย
สุกำพล : การพูดคุยเป็นมิติใหม่-เชื่อทำให้ใต้สงบ
บนเวทีเสวนาเรื่อง "เจาะลึกสถานการณ์ชายแดนใต้" ที่มี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นไฮไลท์ ร่วมกับรัฐมนตรีอีกหลายราย ภายหลังร่วมงาน "เปิดปฏิบัติการขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต" ที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มี.ค.2556 ทั้งรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำเสนอมุมมองต่อสถานการณ์ในพื้นที่เอาไว้น่าสนใจพอสมควร
พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ทุกคนเป็นคนไทยเชื้อชาติเดียวกัน เรื่องที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต้องช่วยกันแก้ไข เช่น การหยิบยกประวัติศาสตร์มาเป็นข้ออ้างและเงื่อนไขความขัดแย้ง ทั้งๆ ที่มาจากการบิดเบือน เรื่องนี้ต้องแก้ไขอย่างรอบคอบเพื่อให้ความรุนแรงจบลงอย่างเด็ดขาด การพูดคุยกับขบวนการ (แบ่งแยกดินแดน) เป็นมิติใหม่ เป็นสิ่งที่มีแล้วจะทำให้ไฟใต้สงบ การพูดคุยครั้งนี้อยู่ภายใต้ข้อเสนอของไทยที่ไม่มีการแบ่งแยกดินแดน การเจรจาจะทำกันไปควบคู่กับงานพัฒนา ตอนนี้เรารู้แล้วว่าต่อสู้อยู่กับใคร และทำอย่างไรจะให้พี่น้องประชาชนอยู่อย่างสงบสุข
นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มหาดไทยมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นตัวเชื่อมมวลชนให้กลับมาอยู่ในที่ที่มองเห็นและพัฒนาได้ หากยังเข้าไม่ถึงมวลชนก็พัฒนาไม่ได้ จึงอยากขอความเข้าใจและความร่วมมือจากพี่น้องและชุมชนเพื่อพัฒนาก้าวไปด้วยกัน
ทวี : ต้องเร่งสร้างความเท่าเทียม-ชอบธรรม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า การพูดคุยในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ถ้าตกลงกันได้ก็จะส่งผลดีกับพื้นที่อย่างเต็มที่ เรื่องนี้มีพลังมากพอที่จะทำให้เกิดผล การไปพูดถึงอนาคตต้องดูที่เด็กและเยาวชน และให้องค์กรต่างๆ มาเป็นศูนย์กลาง มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่จบ เรื่องใหญ่ที่ต้องทำเร่งด่วนคือความเท่าเทียมและชอบธรรม ซึ่งต้องดูในรายละเอียดของรัฐ
"อาชีพที่เป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของคนที่นี่คือรับราชการ ยกตัวอย่างเปิดรับสมัคร 30 ตำแหน่ง มาสมัครกัน 6 พันกว่าคน ถึงเวลาที่รัฐต้องให้ความเป็นธรรมกับคนในพื้นที่หรือยัง เป็นเรื่องที่ต้องมาพูดคุยกัน"
พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่เคยมีมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันที่มีการเจรจา อาจมีการต่อรองมากไป ต้องมาออกแบบการพูดคุยใหม่ สิ่งที่คาดหวังจากการพูดคุยคือสิ่งที่เป็นอยู่จริง แผนงานที่นำไปสู่เป้าหมาย และกระตุ้นให้ก้าวไปสู่สันติสุข


---------------------------------------------------------------------------------------------
โดย  ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา